ชุมชนเมืองในปัจจุบันสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ตัวบ้านนั่นคือ
รั้วรอบที่ดิน เพราะจะช่วยในเรื่องความปลอดภัย และแสดงขอบเขตกรรมสิทธิ์ในที่ดิน บ้างทำเป็นรั้วโปร่ง บ้างทำเป็นรั้วทึบ หรือกำแพงกั้นระหว่างที่ดินของตนเองกับที่สาธารณะ หรือทำรั้วกั้นระหว่างที่ของตนเองกับเพื่อนบ้าน โดยรั้วด้านติดกับถนนสาธารณะก็จะมีประตูสำหรับรถหรืออาจมีประตูขนาดเล็กสำหรับคนเพื่อผ่านเข้าออก วันนี้ทาง
อาร์คิเทค บีเคเค ขอนำเสนอเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับกฎหมายควบคุมอาคารมีข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่อง
รั้ว ที่คนจะ
สร้างบ้านควรทราบไว้
1. ทำรั้วบ้าน ต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้างหรือไม่ ?
หลายคนอาจคิดว่า รั้วไม่ใช่อาคาร ไม่น่าจะต้องขออนุญาตก่อสร้าง แต่จากพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร กำหนดให้ “อาคาร” หมายถึง “…ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ และ หมายความรวมถึง รั้ว กำแพง หรือประตู ที่สร้างขึ้นติดต่อหรือใกล้เคียงกับที่สาธารณะ หรือสิ่งที่สร้างขึ้นให้บุคคลทั่วไปใช้สอย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นตามที่กฎกระทรวงกำหนด...” โดย กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 กำหนดให้สิ่งก่อสร้างใดก็ตามที่มีความสูงตั้งแต่ 10 เมตร เข้าข่ายเป็น “อาคาร” ด้วย
เมื่อดูจากเนื้อความก็จะเห็นว่าหากรั้วบ้านนั้นสร้างติดต่อหรือใกล้กับที่สาธารณะ ก็จะถือเป็น “อาคาร” หรือหากไม่ได้สร้างติดต่อหรือใกล้กับที่สาธารณะแต่รั้วนั้นมีความสูงถึง 10 เมตร ก็จะถือเป็น “อาคาร” ตามกฎหมายควบคุมอาคารเช่นกัน ดังนั้น รั้วกั้นระหว่างเขตที่ดินเอกชนกับที่สาธารณะ จะต้องขออนุญาตก่อสร้าง เพราะถือเป็น “อาคาร” ตามกฎหมาย รั้วกั้นระหว่างที่ดินเอกชนที่ติดกันและรั้วนั้นมีความสูงไม่ถึง 10 เมตร ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อสร้าง เพราะไม่ถือเป็น “อาคาร” แต่หากรั้วนั้นมีความสูงถึง 10 เมตร ก็จะต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้างเพราะเข้าข่ายเป็น “อาคาร”
2. แนวรั้วและความสูงของรั้วด้านติดถนนสาธารณะ
โดยทั่วไปกฎหมายอาคารจะกำหนดให้ แนวของอาคารด้านที่ติดหรือใกล้กับทางสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นถนนสาธารณะหรือแหล่งน้ำสาธารณะ ต้องมีระยะถอยร่นไม่สามารถสร้างให้ชิดแนวเขตทางสาธารณะได้ หลายท่านอาจสงสัยต่อว่า กรณีที่รั้วบ้านเข้าข่ายเป็น “อาคาร” ทำไมจึงสามารถก่อสร้างตรงชิดแนวเขตที่ดินและติดกับเขตถนนสาธารณะได้โดยไม่ต้องถอยร่น ขอให้ทราบว่า รั้วบ้านที่สร้างระหว่างที่ดินเอกชนกับถนนสาธารณะ กฎหมายควบคุมอาคารผ่อนผันให้ รั้วหรือกำแพงที่สร้างขึ้นติดต่อหรือห่างจากถนนสาธารณะน้อยกว่าความสูงของรั้ว ให้ก่อสร้างได้สูงไม่เกิน 3 เมตร เหนือระดับทางเท้าหรือถนนสาธารณะ หากความสูงไม่เป็นไปตามที่ผ่อนผันไว้ รั้วนั้นก็จะต้องมีระยะถอยร่น (จากถนนสาธารณะ) สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร หากถนนสาธารณะกว้างน้อยกว่า 6 เมตร ความสูงรั้วด้านที่ยอมให้สร้างชิดเขตถนนสาธารณะจะถูกจำกัดให้สูงได้ไม่เกิน 2 เมตรเท่านั้น
3. ลักษณะและรูปแบบของรั้ว
กฎหมายไม่ได้กำหนดรูปแบบว่ารั้วต้อง ทึบ โปร่ง หรือต้องมีรูปแบบเช่นใด แต่กำหนดให้รั้วต้องมีการ “ปาดมุม” ตรงที่ดินที่อยู่มุมถนนสาธารณะและมีมุมหักน้อยกว่า 135 องศา โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2535) ข้อ 5 กำหนดว่า “รั้วหรือกำแพงกั้นเขตที่อยู่มุมถนนสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป และมีมุมหักน้อยว่า 135 องศา ต้องปาดมุมรั้วหรือกำแพงกั้นเขตนั้น โดยให้ส่วนที่ปาดมุมมระยะไม่น้อยกว่า 4 เมตร และทำมุมกับเนวถนนสาธารณะเป็นมุมเท่า ๆ กัน”
สำหรับกรุงเทพมหานคร มีกำหนดเฉพาะที่ดินอยู่มุมถนนที่กว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไปแต่ไม่เกิน 8 เมตร ที่รั้วต้องปาดมุม และต้องไม่มีส่วนใดของรั้ว กำแพง หรืออาคารยื่นล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนที่ปาดมุม วัตถุประสงค์ก็น่าจะเพื่อความปลอดภัยและไม่ให้เกิดความเสียหาย (ของทั้งรถและทั้งรั้ว) ในการเลี้ยวรถบนถนนที่มีความกว้างไม่มากนัก
4. แนวรั้วกั้นระหว่างที่ดินเอกชน
รั้วที่กั้นระหว่างที่ดินเอกชนกับที่สาธารณะ แน่นอนว่าต้องไม่มีส่วนใดของรั้วล้ำออกไปในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะบนดิน เหนือดิน หรือใต้พื้นดิน (เช่น ฐานรากรั้วก็ล้ำออกไปไม่ได้) แต่สำหรับแนวรั้วกั้นระหว่างที่ดินเอกชนด้วยกัน กฎหมายควบคุมอาคารไม่ได้กำหนดว่าจะต้องอยู่แนวใด ดังนั้น การที่ท่านเจ้าของบ้านจะทำรั้วระหว่างที่ดินของท่านกับที่ดินเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน ท่านจะนำหลักเกณฑ์เดียวกับการสร้างรั้วติดกับที่สาธารณะไปใช้ก็ได้ คือ รั้วทั้งหมดอยู่ในเขตที่ดินของผู้ที่จะสร้างรั้ว หรือหากเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกัน สามารถตกลงกันได้ ก็อาจก่อสร้างให้แนวรั้วกั้นระหว่างที่ดิน โดยให้แนวเขตที่ดินอยู่กึ่งกลางตลอดแนวรั้วก็ได้ และกรณีนี้อาจตกลงกันไปถึงเรื่องการออกค่าใช้จ่ายการทำรั้วได้เช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : SCG