นับเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายๆคนพบเจอส่วนใหญ่พบในบ้านที่สร้างมานาน นั่นคือ
"รอยร้าว" ส่วนต่างๆของบ้าน แน่นอนว่าหลายคนคงเป็นกังวลไม่น้อย เพราะไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบกับโครงสร้าง ความมั่นคงแข็งแรงของตัวบ้าน หรือเป็นแค่รอยแตกลายงาของผนังที่ฉาบไม่ดี แต่จริงๆเราสามารถสังเกตได้ไม่ยากว่าร้าวแบบไหนถึงอันตรายหรือไม่อันตราย?
♦ รอยร้าวที่ขอบวงกบประตู - หน้าต่าง
รอยร้าววงกบประตู หน้าต่างสามารถเกิดขึ้นได้ หากช่างไม่ได้ติดตั้งเสาเอ็นทับหลังตอนก่อผนังอิฐ หรือติดตั้งมาไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการยืดหดตัวของปริมาณปูนฉาบที่ต่างกันบนผนังอิฐและเสาเอ็นทับหลังรอบวงกบ ก็ทำให้เกิดรอยร้าวขึ้นได้เช่นกัน รอยร้าวบริเวณวงกบประตู หน้าต่างนี้
ไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างเพียงแต่จะดูไม่สวยงาม
- วิธีแก้ไขรอยร้าวมุมวงกบประตู หน้าต่างขนาดเล็ก
สามารถนำซิลิโคน หรือ อะคริลิก ที่เป็นวัสดุยืดหดตัวได้มาอุด รอให้แห้ง และขัดด้วยกระดาษทราย จากนั้นทาสีทับ
- วิธีแก้ไขรอยร้าวมุมวงกบประตู หน้าต่าง เป็นร่องลึกกว้าง
ควรสกัดร่องให้เรียบร้อย จากนั้นใช้ซีเมนต์สำหรับงานซ่อมอุดรอยร้าว หรือหากต้องการความสะดวกอาจเลือกใช้โฟมอุดรอยรั่วชนิดกระป๋องฉีด จากนั้นตัดแต่งโฟมส่วนเกิน และทาสีทับให้เรียบร้อย เท่านี้บริเวณประตู หน้าต่างก็จะดูสวยงามเรียบร้อยเหมือนเดิม
♦ รอยแตกลายงาทั่วผนัง
อาจเกิดจากการผสมปูนฉาบผนังไม่ดี หรือผนังมีการหดตัว จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิระหว่างกลางวัน และกลางคืนมาเป็นเวลานาน จนทำให้เนื้อปูนฉาบแตกเป็นรอยร้าวลายงา
ไม่มีอันตราย แต่ทำให้บ้านสวยๆเกิดร่องรอยน่าหงุดหงิดใจได้
รอยร้าวแบบแตกลายงา มักจะเกิดจากปูนฉาบขาดน้ำ คือ ผนังก่ออิฐแห้งเกินไปทำให้เมื่อเราเริ่มงานฉาบปูน น้ำที่ผสมในปูนฉาบที่ได้สัดส่วนดีงามแล้ว โดนผนังด้านในดูดเอาน้ำไปทำให้ปูนฉาบผิดสัดส่วนและแห้งเกินไป เมื่อใช้อาคารไปซักพักจึงเกิดเป็นรอยดังกล่าว หรืออาจจะโดนเร่งงานจากเจ้าของบ้านหรือรีบเก็บงวดงาน ทำให้เมื่อก่อผนังอิฐเสร็จก็ฉาบเลยไม่รอให้ผนังอิฐเซ็ทตัวนั่นเอง
- วิธีแก้ไขที่ต้นเหตุ ก่อนงานฉาบปูนให้เรารดน้ำผนังก่ออิฐให้ชุ่มก่อนเพื่อไม่ให้ผนังขาดน้ำ สังเกตง่ายๆก่อนจะเริ่มงานฉาบลองเอาฝ่ามือไปนาบผนังถ้ารู้สึกว่าเย็นๆชื้นๆก็แสดงว่าใช้ได้
- วิธีแก้ไหากเกิดรอยร้าวแล้ว ให้ใช้สีที่มีความยืดหยุ่นสูงมาทาทับให้เรียบร้อยก็สามารถแก้ได้ไม่ยากนัก
♦ รอยร้าวบริเวณรอยต่อระหว่างผนังกับโครงสร้างเสาและคาน
เกิดจากขั้นตอนการก่อสร้างผนังที่ไม่ได้เสียบเหล็กหนวดกุ้ง เกาะยึดกับโครงสร้างเสาด้านข้าง หรือเสียบแต่ไม่แน่นพอ ทำให้ผนังเกิดรอยร้าว ระหว่างรอยต่อของเสา
มีความอันตรายน้อย และดูไม่สวยงาม
♦ รอยร้าวแนวดิ่งบนผนัง
เป็นรอยร้าวที่เกิดจากการแอ่นตัวของพื้น และคานที่อยู่เหนือผนังรองรับ น้ำหนักไม่ไหว ส่งผลให้ผนังที่อยู่ติดกับโครงสร้างนั้นเกิดการแตกร้าว โดยลักษณะรอยร้าวมักเกิดขึ้นในบริเวณกลางผนังเป็นแนวดิ่งจากเพดานหรือจากพื้นยาวไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของความสูงผนัง
เป็นอันตรายมากให้รีบเคลื่อนย้ายของที่มีน้ำหนักมาก ออกไปจากบริเวณนั้นทันที
♦ รอยร้าวมีสนิมบริเวณเหล็กเสริมใต้พื้น
เกิดจากการไม่ได้หนุนลูกปูนขณะเทคอนกรีต พบได้บ่อยในกรณีที่พื้นหลังคาดาดฟ้ามีน้ำขัง จนซึมเข้ามาถึงเหล็กภายในพื้นคอนกรีต และขยายตัวดันให้คอนกรีตหุ้มเหล็ก หลุดร่วงลงมา ทำให้พื้นไม่สามารถรับน้ำหนักมากๆได้
เป็นอันตรายมากเลยทีเดียว
♦ รอยร้าวทแยงมุมบนผนัง
เกิดจากการทรุดตัวของฐานราก หรือเสาบ้านที่อยู่ใกล้ผนังบริเวณนั้น รอยร้าวลักษณะนี้บ่งบอกถึงความไม่แข็งแรงของโครงสร้างบ้าน ควรรีบเรียกช่างผู้ชำนาญ หรือสถาปนิก มาตรวจสอบ และแก้ไขโดยด่วน เพราะ
เป็นอันตรายมากที่สุดสำหรับผู้อยู่อาศัย
♦ รอยร้าวใต้ท้องพื้นรูปกากบาทและรอยร้าวบริเวณกลางพื้น
เป็นรอยร้าวที่เกิดจากพื้น รับน้ำหนักมากเกินไป จนเกินขีดความสามารถ เป็นสัญญาณเตือนภัยก่อนพื้นจะพังทลายลงมา ซึ่ง
เป็นอันตรายมากที่สุด ให้รีบเคลื่อนย้ายของที่มีน้ำหนักมากจากด้านบนออก ถ้ารอยร้าวนั้นยังมีการลุกลามอาจเกิดจากการคำนวณการรับน้ำหนักที่ไม่ดีมาตั้งแต่ต้น ให้หยุดใช้พื้นที่ชั้นบนและชั้นล่างจนกว่าจะมีการตรวจสอบ โดยอาจต้องเสริมโครงสร้างเสาและคาน หรือเปลี่ยนโครงสร้างพื้นใหม่ และรีบปรึกษาวิศวกรโครงสร้างโดยด่วน
♦ รอยร้าวบนเสา
มีหลายลักษณะ เช่น รอยร้าวแนวดิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณโคนเสา เกิดจากการที่เสารับน้ำหนักได้ไม่ดีพอ หรือรับน้ำหนักมากเกินไป รอยร้าวแนวเฉียง 45 องศา เกิดจากการรับแรงเฉือนจากการที่อาคารเกิดการทรุดตัวไม่เท่ากัน รอยร้าวแนวนอนบริเวณต้นเสาและโคนเสา เกิดจากการรับแรงบิดกับแรงเฉือน อันมีสาเหตุมาจากการที่คานยื่นออกจากเสามากเกินไป และรอยร้าวในเสาที่เกิดจากการที่เหล็กข้างในเสาเป็นสนิม เสามีเนื้อพรุนเป็นโพรง และเสามีความหนาที่หุ้มเหล็กน้อยเกินไป แต่ไม่ว่าจะแบบไหนก็
อันตรายทั้งนั้นการ
- วิธีแก้ไข ถ้าเกิดจากการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ให้กะเทาะปูนด้านนอกและขัดสนิมออก แล้วใช้ปูนเกราต์กำลังสูงฉาบปิดผิว แต่ถ้าเสารับน้ำหนักไม่ไหว อาจต้องเสริมเหล็กเสาเพิ่มด้วย
♦ รอยร้าวบนคาน
รอยร้าว กลางคานรูปตัวยู (U) และรอยร้าวแนวเฉียง 45 องศาบริเวณริมคาน เกิดจากการที่คานรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้คานแอ่นและดันผนังใต้คานให้เกิดรอยร้าวแนวดิ่งตามมาด้วย
เป็นอันตรายอย่างมาก
- วิธีการแก้ไข เบื้องต้นควรย้ายของที่อยู่เหนือคานออก เพื่อลดน้ำหนักกดทับ แล้วใช้เหล็กค้ำยันเพื่อช่วยแบ่งเบาน้ำหนัก จากนั้นให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบเพื่อเสริมคาน
อย่างไรก็ตาม หากพบรอยร้าวตามที่กล่าวมา หรือไม่แน่ใจ ควรรีบปรึกษาวิศวกรที่มีความชำนาญเข้าตรวจสอบ อย่าปล่อยไว้เพราะอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
ที่มา : บ้านและสวน